ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย (8 เมษายน พ.ศ. 2451 — 30 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ) อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ทางสาขาวิชานิติศาสตร์ท่านหนึ่งของประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย (นามเดิม สายหยุด แสงอุทัย) เกิดที่อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของ นายจ๋าย กับนางนุ่ม แสงอุทัย สมรสกับนางบุหงา แสงอุทัย มีธิดา 2 คนคือแพทย์หญิงณัฐวดี แสงอุทัย สไตนเฮาส์ และนางสาวใจงาม แสงอุทัย
ท่านถึงแก่อนิจจกรรม ณ โรงพยาบาลธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2522 สิริอายุได้ 71 ปี 8 เดือน 22 วัน
นอกจากนี้ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย ยังได้รับราชการพิเศษเป็นกรรมการในส่วนราชการต่างๆ และมีประวัติการทำงานนอกราชการเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่าง และตรวจชำระสะสางหรือปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นๆ ของไทยเป็นจำนวนมาก ท่านจึงได้รับการยอมรับอย่างมากในทางวิชาการ ให้เป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในลักษณะวิชาต่างๆ แทบทุกแขนง และที่มีชื่อเสียงมาก คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ซึ่งท่านได้รับตำแหน่งและเกียรติคุณทางวิชาการที่สำคัญ ดังนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย ได้แต่งตำราวิชากฎหมายเอาไว้ถึง 32 เล่ม บทความในทางกฎหมายประมาณ 50 บทความ และบันทึกท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาอีกประมาณ 200 เรื่อง ซึ่งหลายเล่มได้รับการยกย่องให้เป็นมาตรฐานทางวิชาการและใช้ในการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน ดู ข้อมูลจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย เป็นผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็นทางวิชาการของตนผ่านทางช่องทางต่างๆ เสมอ และเป็นผู้ที่สนับสนุนให้นักศึกษากฎหมายมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง อันจะทำให้วิชาการทางนิติศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่
ซึ่งการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างตรงไปตรงมาของศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ท่านต้องประสบกับมรสุมในชีวิตเสียเองระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านถูกกล่าวหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากศัตรูทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.หยุด โดยอ้างอิงจากบทความเรื่อง “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” ที่ท่านนำมาอ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2499 ซึ่งใจความส่วนที่มีปัญหาคือ “องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใด ที่เป็นปัญหาหรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” โดยข้อความในตอนนี้ได้มีผู้นำไปโยงว่าเป็นปฏิกิริยาหลังจากการพระราชทานพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันกองทัพบกไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2499 ใจความตอนหนึ่งว่า “ให้ทหารรู้จักหน้าที่ในความเป็นทหาร ทหารไม่บังควรเล่นการเมือง” ที่มีผู้มองว่าเป็นพระราชวิจารณ์ต่อคณะรัฐบาลในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจของท่านว่า “ถึงแม้ขณะนี้ผมก็ยังยืนยันว่าผมไม่ผิด ผมพูดตามหลักวิชาการ และเคยพูดแบบนี้ทางวิทยุกระจายเสียงมา ๗ ครั้งแล้ว เช่น ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล มีข้อความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรแต่คราวนี้กลับเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตไปได้ .... ส่วนที่ว่าผมกำลังรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้องคุณสงวนและหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าว เรื่องนี้นะหรือ ตราบใดที่ผมยังเป็นข้าราชการอยู่ ตราบนั้นผมจะไม่ฟ้องใครในฐานหมิ่นประมาทเลยเป็นอันขาด เพราะผมถือว่าใครทำดีทำชั่วคนเขารู้เอง สำหรับเรื่องที่ว่าผมหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น ผมสู้เต็มที่ ผมก็เป็นคนที่รักในหลวงคนหนึ่งเหมือนกัน เพราะผมรักพระองค์ท่าน ผมจึงไม่ต้องการให้ใครเอาในหลวงเป็นเครื่องมือ” ดู ["หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499"]
แม้ว่าศาสตราจารย์พิเศษ ดร.หยุด แสงอุทัย จะถูกโจมตีจากผู้ที่ไม่หวังดีเพราะได้แสดงความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ท่านก็ยังคงยืนยันความคิดเห็นเดิม ในหลักการ “The King Can Do No Wrong” ซึ่งปรากฏในคำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 และคำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515 ที่ท่านได้แต่งขึ้น
ชีวิตคนเราในโลกนี้ มีระยะเวลาจำกัด ตำแหน่ง ลาภ ยศ และทรัพย์สินที่เราพยายามขวนขวายหามา ถึงเวลาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรเป็นของตัว ความดีงามตลอดจนชื่อเสียงทั้งหลาย เมื่อตายไป คนก็จะค่อยๆ ลืมไปสิ้น ฉะนั้น ถ้าเรามีโอกาสหาความรู้เข้าไว้ แล้วพยายามเขียนเพื่อสร้างตำราขึ้นมา ตำราเหล่านี้เท่านั้นที่จะไม่ตายไปพร้อมกับตัว แต่จะเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่ และช่วยให้เยาวชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวทางในการศึกษา และเพิ่มพูนทางวิชาการต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด